
ทองคำ.... ของขัวญจากต่างดาว
คุณสมบัติของทองคำ
ภักดิ์ ทองเจริญ (2544, หน้า 25) ได้อธิบายถึงคุณสมบัติทางเคมีทั่วไปของทองคำไว้ว่า มีคุณลักษณะที่ทนทาน หายากมีสัญลักษณ์ทางเคมีว่า Au เรียกว่า “AURUM” ซึ่งมาจากภาษาละตินโดยมีเลขอะตอมลำดับที่ 79 น้ำหนักอะตอม (atomic weight) 196.967 มีค่าความแข็ง 2.5 ค่าความถ่วงจำเพาะ 19.32 จุดหลอมเหลว (melting point) 1,063 องศาเซลเซียส จุดเดือด (boiling point) 2,701 องศาเซลเซียส สามารถตีแผ่เป็นแผ่นบาง ๆ ได้ โดยมีความหนาเพียง 0.00001 มิลลิเมตรได้มีความเหนียวไม่เกิดสนิมในบรรยากาศปกติทองคำสามารถรวมตัวกับ ปรอทได้ทันที ทองคำไม่ละลายในกรดทั่วไปแต่จะละลายในกรดกัดทองหรือกรดเข้มข้นที่ผสมระหว่าง กรดไนตริก (HNO3) และกรดไฮโดรคลอริก (HCl) ในสัดส่วน HNO3:HC (1:3) สามารถละลายใน Alkaline ของ Cyanide
ทองคำเป็นโลหะอ่อน มีสีเหลืองประกายวาวมีคุณสมบัติในการนำไฟฟ้าและความร้อนได้ดีมากเมื่อนำ ทองคำมาผสมกับโลหะอื่นๆ จะทำให้ได้ทองคำที่มีความแข็งแรงเพิ่มขึ้น และสีของทองคำมีโลหะอื่นผสมอยู่จะทำให้สีทองคำเปลี่ยนแปลงไป เช่น ทองสีขาว (ผสมกับนิกเกิลและแพลเลเดียม) ทองสีเหลือง (ผสมกับเงินและสังกะสี) ทองสีแดงหรือทองนาก (ผสมทองแดง) ทองสีเขียว (ผสมเงินและแคดเมียม) ทองสีม่วง (ผสมอลูมิเนียม) ดังตาราง ดังนั้นทองคำบริสุทธิ์จึงสามารถแยกออกจากทองคำที่ผสมโลหะอื่น ๆ ได้ด้วยสีที่มีความเฉพาะตัว
น้ำหนักทองคำ
น้ำหนักทองคำมีรายละเอียด ดังนี้ (สมาคมค้าทอง, 2551)
1. ทองคำบริสุทธิ์ 96.5 เปอร์เซ็นต์ (มาตรฐานในประเทศไทย)
2. ทองรูปพรรณ น้ำหนัก 1 บาท เท่ากับ 15.16 กรัม
3. ทองรูปพรรณ น้ำหนัก 1 สลึง เท่ากับ 3.79 กรัม
4. ทองคำแท่ง น้ำหนัก 1 บาท เท่ากับ 15.244 กรัม
5. ทองคำบริสุทธิ์ 99.99 เปอร์เซ็นต์
6. ทองคำ 1 กิโลกรัม เท่ากับ 32.1508 ทรอยออนซ์
7. ทองคำ 1 ทรอยออนซ์เท่ากับ 31.104 กรัม
หน่วยวัดความบริสุทธ์ของทองคำ
หน่วยวัดความบริสุทธ์ของทองคำมีรายละเอียดดังนี้ (จิติศักดิ์ เปรมมณี, 2544, หน้า 4)
ทองคำบริสุทธิ์ มีค่าความบริสุทธิ์ 99.0 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป
ทองรูปพรรณ มีค่าความบริสุทธิ์ 96.5 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป
ทองคำ 24 กะรัต มีค่าความบริสุทธิ์ 99.0 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป
ทองคำ 18 กะรัต มีค่าความบริสุทธิ์ 75.0 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป
ทองคำ 14 กะรัต มีค่าความบริสุทธิ์ 58.33 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป